ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย
โดยมีสาเหตุมาจากถุงพลาสติก ทั้งปัญหาขยะ ปัญหาโลกร้อน
และยังส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสัตว์ในระบบนิเวศ เราจะเห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ
ว่าพบถุงพลาสติกอยู่ในท้องของเต่าทะเล เป็นสาเหตุให้เต่าทะเลตาย
และไม่ใช่แค่เต่าทะเลเท่านั้น ยังมีสัตว์อื่น ๆ กว่า 700
ชนิดที่ตายเพราะกินถุงพลาสติกเข้าไป
สาเหตุของสิ่งที่น่าเศร้านี้คือถุงพลาสติกที่ไม่ยอมย่อยสลาย
ต้องใช้เวลาหลายสิบปีถึงจะสามารถย่อยสลายได้ และเมื่อเราใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น
ปัญหาเหล่านี้ก็รุนแรงมากขึ้นตามมา
เกิดเป็นขยะและมลพิษทุกหนทุกแห่งชนิดที่นับไม่ถ้วน
เราจึงเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่องจนไปถึงการงดใช้ถุงพลาสติก
ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งเกิดเป็นกระแสไปทั่วโลก เพื่อรักษาโลกของเราให้ดำรงต่อไปได้ในระยะยาว
เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกทั่วทั้งประเทศ ทั้งร้านสะดวกซื้อ
ร้านขายยา และห้างสรรพสินค้า โดยหากใครที่ต้องการถุงพลาสติกก็จะโดนคิดเงินที่ 10
เยนต่อใบ นอกจากนี้แบรนด์ใหญ่อย่าง Uniqlo เองก็เพิ่งออกมาประกาศว่าจะงดการใช้ถุงพลาสติก
เปลี่ยนไปใช้ถุงกระดาษแทน
เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภค 1 คน เฉลี่ยแล้วใช้ถุงพลาสติก 3 ใบต่อวัน
ซึ่งส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกสูงถึงปีละ 7,000 ล้านใบ และมากถึง 75%
ของขยะพลาสติกทั้งหมด เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากเป็นอันดับที่
6 ของโลก คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกมีมากถึง 2 แสนล้านใบต่อปี
ทั้งนี้ มาตรการที่ปล่อยออกมามีทั้งแบบซอฟต์ ๆ เช่น ห้างเซ็นทรัล เทสโก้
โลตัส และ Homepro มีนโยบายว่า ลูกค้าคนไหนที่ไม่รับถุงพลาสติกจะได้แต้มสะสมใน
Loyalty Card เพิ่ม
ส่วนมาตรการที่ถือว่าเป็นยาแรงอย่างการเก็บเงิน
ก็ได้มีการเริ่มทำแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มเก็บเงินที่ราคา 2 บาท
ซึ่งสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ประมาณ 80% ถือว่าได้ผลเกินคาด
โดยเงินส่วนที่เก็บไปจะนำไปพัฒนาโครงการปลูกป่าต่อไป
สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ในวันนี้คือตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากพิษภัยของพลาสติก
และให้ความร่วมมือลดการใช้ถุงพลาสติก ทำได้ง่าย ๆ
โดยการใช้ถุงผ้าแทนในการไปซื้อของ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น
กล่องโฟมใส่อาหาร ตัวการพาเสี่ยงมะเร็ง!?
ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหาร นอกจากจาน ชาม ยังมีโฟม (Foam) ซึ่งเป็นภาชนะที่ผู้จำหน่ายส่วนมากนิยมนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุหรือหีบห่ออาหาร
ทั้งอาหารสด ผักสด อาหารพร้อมปรุง และอาหารปรุงสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่ว่าซื้อหาได้ง่าย
สะดวกในการเปิดรับประทานได้เลย แต่รู้หรือไม่ว่าโฟมที่นำมาบรรจุอาหารเหล่านั้น
หากเจอความร้อนจัดจะหลอมละลายจนอาจเกิดสารก่อมะเร็ง "สไตรีน"
ออกมาปนเปื้อนในอาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย
การใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน
ส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายมักจะใส่อาหารที่มีความร้อนและไขมัน
ซึ่งอาจส่งผลให้สารเคมีจากโฟมออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้
โดยเฉพาะอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าไมโครเวฟ
เพื่อทำการอุ่นให้ความร้อนแก่อาหารก่อนนำมารับประทาน จึงมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่จะได้รับสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของโฟมเข้าสู่ร่างกาย
และหากสะสมในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
เนื่องจากการใช้โฟมพลาสติกมาบรรจุอาหารบางชนิดนั้นอาจจะทำให้เกิดปฏิกิริยาปลดปล่อยสารสไตรีน
(Styrene) ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์และสัตว์
คุณสมบัติของสารสไตรีนนั้น
เป็นสารที่สามารถละลายได้ในน้ำมันและแอลกอฮอล์หรือแม้แต่อาหารที่มีไขมันสูง เช่น
เนื้อสัตว์ติดมัน เนยแข็งที่บรรจุอยู่ในถาดโฟม
ประกอบกับการทิ้งอาหารให้สัมผัสกับภาชนะโฟมเป็นเวลานานจะยิ่งมีการปลดปล่อยสารสไตรีนออกมาปนเปื้อนอาหารได้มากขึ้น
ซึ่งหากร่างกายรับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานและการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ไม่ถูกวิธี
ก็อาจส่งผลเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคตได้
ข้อมูลจากฝ่ายเฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าและบริการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ได้ดำเนินการทดสอบพิสูจน์โฟมสำหรับบรรจุอาหาร พบว่า
ผู้บริโภคอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีตกค้างจากการปนเปื้อนมากับภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
โดยส่วนใหญ่โฟมจะมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ชนิด คือ สไตรีน และเบนซีน ซึ่งสารทั้ง 2
ชนิดนี้สามารถแพร่กระจายและละลายปนเปื้อนกับอาหารได้เมื่อได้รับหรือสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนสูง
ทั้งนี้
แม้ว่าผลการทดสอบที่ได้ส่วนใหญ่จะมีค่าการปนเปื้อนของสารเคมีโลหะหนัก (ตะกั่ว
แคดเมียม) และสารตกค้างจากสารที่ระเหยอยู่ในเกณฑ์ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2548) กำหนดไว้
แต่ค่าที่ได้จากผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนสารละลายของสารเคมีต่าง ๆ
หลุดออกมา เมื่อทดสอบในสภาวะที่ใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูงจริง
โดยค่าที่ได้มีค่าสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของค่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมเรื้อรัง
และเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้
ถ้าร่างกายได้รับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างไรก็ตาม สคบ.
ได้เตรียมแผนการจัดสัมมนาเกี่ยวกับภาชนะโฟม และทำความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจ
ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ให้มีการลด ละ เลิกการใช้โฟมมาบรรจุใส่อาหาร
เพื่อลดอัตราความเสี่ยงอันตรายที่จะส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค
ดังนั้น สคบ.
จึงแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารให้ถูกประเภทหลีกเลี่ยงการนำโฟมมาบรรจุอาหารร้อน
ไขมันสูง หรือมีความเป็นกรด และหลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ
รวมถึงการหันมาใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กระดาษ กล่องไบโอ ชานอ้อย พลาสติกไบโอ แทนกล่องโฟม
ดีกว่าการปล่อยให้ร่างกายถูกทำลายเพราะอันตรายจากสารเคมีทุกวัน
|